พระสิริมังคลาจารย์

ชาตกาล
พระสิริมังคลาจารย์ เป็นชาวเชียงใหม่ เกิดในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช แห่งรางวงศ์มังราย ระหว่าง พ.ศ. 1985 -2030
ท่านมีนามเดิมว่า “ศรีปิงเมือง” ที่ได้ชื่ออย่างนี้ ก็เพราะว่า โยมมารดาท่านคลอดขณะหลบภัยพายุที่โคนต้นโพธิ์ โยมบิดาซึ่งมีอาชีพค้าช้าง จึงตั้งชื่อท่านว่า “ศรีปิงเมือง”
ในปัจจุบัน คือ หมู่บ้านตำหนัก แขวงป่าซี่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
บรรพชา


ศึกษาเล่าเรียน
หลังจากบรรพชาอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางไปเรียนหนังสือในสํานักของ พระพุทธวีระ ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่า พระพุทธวีระนั้นเป็นพระในนิกายลังกาวงศ์ แต่จะเรียนในประเทศไทยหรือข้ามไปเรียนที่ลังกานั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด เป็นแต่พบข้อความในปัจฉิมคาถาของคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่พระสิริมังคลาจารย์บันทึกไว้ว่า พระพุทธวีระเป็นอาจารย์ของท่าน นอกจากนั้นแล้วก็ไม่พบนามว่า พุทธวีระในบันทึกใดใดอีกเลยทั้งจากคัมภีร์ของลังกา พม่าหรือของล้านนาเองก็ตาม
แต่งคัมภีร์
พระสิริมังคลาจารย์ มีชื่อกลับมาปรากฏในประวัติศาสตร์อีกครั้ง ในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว หรือ พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช
เพราะท่านได้แต่งวรรณกรรมบาลีสำเร็จลงในรัชสมัยนี้ ถึง 4 เล่ม ด้วยกัน คือ
- เวสสันตรทีปนี แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 879 ตรงกับพุทธศักราช 2060 อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
- จักรวาลทีปนี แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 882 ตรงกับพุทธศักราช 2063 อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
- สังขยาปกาสกฎีกา แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 882 ตรงกับพุทธศักราช 2063 อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
- มังคลัตถทีปนี แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 886 ตรงกับพุทธศักราช 2067 อยู่ ณ สุญญาคาร



มังคลัตถทีปนี
ผลงานแต่งวรรณกรรมบาลีของท่าน ที่โดดเด่นและสำคัญ คือ“มังคลัตถทีปนี” ปราชญ์ทางศาสนายกย่องเทียบชั้นว่า “เป็นวรรณกรรมต้นแบบ” งดงามด้วยเค้าโครงเรื่อง ภาษาสละสลวย เลือกถ้อยคำได้เหมาะสม สมบูรณ์พร้อมทั้งศาสตร์และศิลปะแห่งการประพันธ์ ไม่ด้อยไปกว่า “คัมภีร์วิสุทธิมรรค” ของ
พระพุทธโฆสาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดีย ผู้ลือนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 ที่ผ่านมา

หลักสูตร ป.ธ. 4
ในประเทศไทย ทางคณะสงฆ์เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ใช้คัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วิชาแปลมคธเป็นไทย ระดับชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค, เปรียญธรรม 5 ประโยค และ วิชากลับไทยเป็นมคธ ระดับชั้นเปรียญธรรม 7 ประโยค ขณะที่ “คัมภีร์วิสุทธิมรรค” เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วิชาแปลมคธเป็นไทย ระดับชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค และ วิชากลับไทยเป็นมคธ ระดับชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค ในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าพระสิริมังคลาจารย์ แม้จะเป็นภิกษุชาวล้านนา ภาษาถิ่นของท่านมิใช่ภาษาบาลี แต่ก็มีความสามารถทางภาษาบาลีชั้นเอกอุ และมีความสามารถในการแต่งคัมภีร์ ผูกเรื่องวรรณกรรมดุจมหากวี ใช้ภาษาบาลีอย่างช่ำชอง อย่างผู้เป็นนายภาษา อ้างอิงหลักฐานแน่นหนา ซื่อตรงต่อข้อมูล สำรวจตรวจสอบเรื่องราวข้อเท็จจริงความเป็นมาเป็นไปชัดเจน ดุจนักวิชาการชั้นครู ทั้งชาวต่างประเทศ และชาวไทยที่เรียบเรียงตำราทางวิชาการในปัจจุบัน

มรณภาพ
พระสิริมังคลาจารย์ นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มลงสันนิษฐานกันว่า ท่านน่าจะมรณภาพในระหว่าง (พ.ศ.2068 – 2074) ตรงกับรัชสมัยพระเมืองเกศเกล้า เมื่อท่านได้มรณภาพแล้ว ศพของท่านคงได้รับการถวายเพลิง ณ วัดสวนดอก นี้ และได้สร้างกู่บรรจุอัฐิของท่านไว้ในบริเวณวัด ซึ่งขณะนั้นบริเวณวัดคงจะกว้างขวางกว่าในปัจจุบัน มาก ต่อมาเมื่อชุมชนขยายตัวมากขึ้น ชาวบ้านจึงได้เข้ามาจับจองแผ้วถางทําเป็นสวนในบริเวณวัด ทําให้อัฐิของท่าน ได้อยู่ในสวนของชาวบ้านที่รุกล้ําเข้ามา และได้ถูกรื้อไปเมื่อ พ.ศ. 2470 สอดคล้องกับหลักฐานที่รองอํามาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง ได้เล่าไว้ สันนิษฐานว่า รวมสิริอายุท่านประมาณ 47 ปี
ขอบคุณข้อมูลจาก :
- รายงานงานวิจัยย่อย เรื่องที่ 1 : บทบาทการเชื่อมโยงภูมิภาคของพระสิริสังคลาจารย์ ของคณะพระอนุสรณ์ กิตฺติวณฺโณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
- พระมหาเวสสันตรทีปนี : สาระ คุณค่า และนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์